จริง ๆ เราหลายคนอาจรู้จักวงจรสีกันอยู่แล้วนะคะ ที่เป็นวงกลมแล้วมีสีต่าง ๆ ข้างในไล่จาก 3 สีใหญ่แล้วแตกแขนงออกไปเป็นสีอื่นอีกเล็ก ๆ นั้นแหละคือรูปแบบของวงจรสี แต่หลายคนคงสงสัยกันแล้วน่ะสิ ว่ามันคืออะไร ? และมีความสำคัญกับงานศิลปะยังไงนะ ?
วงจรสี คืออะไร?
วงจรสีก็คือ สีที่ผสมกันเป็นคู่ ๆ ต่อกันไป เพื่อให้เกิดสีใหม่ 12 สี หรือมากกว่านั้น โดยสีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมา จะเริ่มผสมสีจากแม่สีก่อนเป็นอันดับแรก และผสมต่อไปสู่สีขั้นที่ 2 และสีขั้นที่ 3 ซึ่งถูกเรียกว่าลำดับขั้นในวงจรสีนั่นเอง
ลำดับขั้นในวงจรสี
แม่สี (Primary Color) > สีขั้นที่ 2 (Secondary Color) > สีขั้นที่ 3 (Tertiary Color)
แม่สี (Primary Color)
คือสีที่ใช้ผสมกันเอง หรือใช้ผสมกับสีกลาง (สีดำ, สีขาว,สีเทา และสีน้ำตาล) เพื่อให้เกิดสีเฉดใหม่ ๆ ขึ้น และไม่มีสีไหนผสมแล้วเป็นสีเหล่านี้ได้ จึงถูกเรียกว่าเป็นแม่สีนั่นเอง โดยแม่สีจะประกอบไปด้วย 3 สี ได้แก่ สีแดง น้ำเงิน และเหลือง นั่นเอง
สีขั้นที่ 2 (Secondary Color)
คือ สีที่เกิดจากการนำแม่สีมาผสมกันในอัตราส่วนเท่า ๆ กัน จนเกิดสีใหม่เพิ่มขึ้นอีก 3 สี ได้แก่
สีส้ม เกิดจากสีแดง+สีเหลือง
สีม่วง เกิดจากสีแดง+สีน้ำเงิน
สีเขียว เกิดจากสีน้ำเงิน+สีเหลือง
สีขั้นที่ 3 (Tertiary Color)
สีที่เกิดจากการนำสีขั้นที่ 1 และ 2 มาผสมกันในอัตราส่วนเท่า ๆ กัน จนเกิดสีใหม่ทั้งหมด 6 สี ได้แก่
สีส้มแดง
สีม่วงแดง
สีเขียวเหลือง
สีเขียวน้ำเงิน
สีม่วงน้ำเงิน
สีส้มเหลือง
โดยวงจรสีเหล่านี้เป็นหลักการผสมสีพื้นฐาน ที่นำไปใช้ได้ในหลากหลายประเภท เช่น ผลงานประเภทสีไม้ ผลงานประเภทสีน้ำทั่วไป ผลงานประเภทสีน้ำมัน หรือสีอะคริลิก เป็นต้น
สำคัญกับงานศิลปะยังไง?
วงจรสีมีหน้าที่ที่สำคัญมากในงานศิลปะ เพราะจะช่วยให้เราสามารถสร้างผลงานได้สะดวก และสื่อสารที่เราจะสื่อได้ง่ายขึ้น เช่น การวาดดอกกุหลาบสีแดงคู่กับพื้นหลังสีน้ำเงิน ซึ่งสื่อถึงความสวยงามและลึกลับเป็นอย่างมาก
หรือภาพวาดดวงอาทิตย์สีแสดสะท้อนกับผืนน้ำสีน้ำเงินในยามเช้า ซึ่งสื่อถึงว่าวันใหม่ใกล้เริ่มขึ้นแล้วนั่นเอง
แค่นี้รู้ได้เลยว่าสีสามารถบอกความรู้สึกของผลงานได้หลายอย่างเลยทีเดียว ! และวงจรสียังมีวิธีการจับคู่สีไปใช้ ให้ผลงานศิลปะดูน่าสนใจ และสื่อถึงอารมณ์ในงานได้ดียิ่งขึ้นด้วยนะ และเรามี 3 ทฤษฎีสี ที่เหล่าอาร์ทติสนำไปใช้ในงานศิลป์ง่าย ๆ มาแชร์ให้อ่านกัน !
3 ทฤษฎีการใช้วงจรสี
1. ทฤษฎี สีคู่ตรงข้าม (Complementary)
การใช้สีคู่ตรงข้าม คือ การใช้สีที่อยู่ตรงข้ามกันในวงจรสี จะทำให้เกิดการตัดกันของสีอย่างรุนแรง ทำให้เกิดความขัดแย้งในงาน ทำให้ดูโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด
สีคู่ตรงข้ามในวงล้อสีมีทั้งหมด 6 คู่ ดังนี้
สีเหลือง – สีม่วง
สีแดง – สีเขียว
สีม่วง – สีส้ม
สีเขียวเหลือง – สีม่วงแดง
สีส้มเหลือง – สีม่วงน้ำเงิน
สีส้มแดง – สีเขียวน้ำเงิน
ด้วยความที่โทนสีมีความแตกต่างกันมาก ในผลงานส่วนใหญ่จึงใช้สีคู่ตรงข้ามในอัตราส่วน 80:20 มากกว่า ที่จะใช้สีทั้งสองสีในอัตราส่วนที่เท่ากัน 50:50 ซึ่งทำให้ผลงานมีสีตรงข้ามที่ตัดสีกันเกินไป อาจทำให้สื่ออารมณ์จากผลงานได้ไม่มากพอนั่นเอง
2 . ทฤษฎี สามสีคู่ตรงข้ามข้างเคียง (Split Complementary)
การใช้สามสีคู่ตรงข้ามข้างเคียง คือการเลือกใช้สีหนึ่งในวงจรสี แล้วจับกลุ่มกับสีคู่ตรงข้ามของสีที่เลือกอีก 2 สี
ซึ่งเป็นสีที่อยู่ใกล้กันในเฉดนั้น ๆ เช่น
สีน้ำเงิน - สีส้ม และสีเหลือง
สีแดง - สีเขียวเหลือง และสีเขียวน้ำเงิน
เมื่อรวมแล้วจะเป็นสี 1 สีไปร่วมกับสีคู่ตรงข้าม อีก 2 สี เป็น 3 สี โดยจะมีสีหนึ่งโดดเด่นกว่าอีก 2 สีที่ตัดกับสีแรกอย่างชัดเจน ทำให้งานมีจุดดึงดูดสายตาที่น่าสนใจ แต่ก็ไม่ได้ตัดกันมากจนดูไม่กลมกลืนสะทีเดียว
3. ทฤษฎี สามสีข้างเคียง (Analogous)
การใช้สีสามสีข้างเคียง คือการใช้สี 3 สี ที่อยู่ติดกันในวงจรสี ทำให้มีชุดสีไปในทางเดียวกัน หรือไม่ได้ต่างวรรณะสีกันมาก
สีที่อยู่ติดกันในวงจรสี เช่น
สีเหลือง - สีเหลืองส้ม - สีส้ม
สีม่วง - สีแดง - สีส้มแดง
การใช้สีลักษณะนี้จะค่อนข้างทำได้ง่ายกว่าสองแบบที่ผ่านมา เพราะทำให้คุมสีในผลงานได้ดี และยังใช้ผสมกับสีกลางได้ง่ายกว่างานอื่น ๆ ด้วย
ยังมีอีกหลายทฤษฎีสีที่เราสามารถนำมาใช้ในงานศิลปะได้อีกเยอะเลย 3 ทฤษฎีสีนี้ก็เป็นทฤษฎีง่าย ๆ ที่ไม่ยากมาก ลองเอาไปฝึกกันได้นะ ยิ่งเราได้ลองระบายสีดูจะช่วยฝึกการสังเกตสี และสมาธิได้ดียิ่งกว่าเดิมด้วยยย ใครที่อยากศึกษาการใช้สี หรืองานศิลป์เพิ่มเติม ลองแวะมาอ่านเทคนิคดี ๆ กับเราได้เลยน้าา
คลิกวิดีโอด้านล่าง เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น!
Comments